การสร้างเขื่อนในแม่โขงและภูมิอากาศแปรปรวน กระทบชาวบ้านหนักหน่วง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.02.19
เชียงราย
P1010023.JPG

เรือประมงขนาดเล็กจอดเกยตื่นอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

SS2.JPG

ความแห้งแล้งที่มาเร็วและยาวนานผิดปกติของแม่น้ำโขงทำให้ต้นไคร้น้ำในอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ยืนต้นตาย ต้นไคร้น้ำถือเป็นที่อยู่อาศัยของปลา อีกทั้งยังมีรากที่ช่วยเกาะผิวดินป้องกันตลิ่งพังด้วย วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong4.jpg

นายเตียม เงินท๊อก ผู้สำรวจอุทกวิทยา สถานีอุทกวิทยา หมู่บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ชี้ให้เห็นว่า ระดับผิวน้ำที่อำเภอเชียงแสนอยู่ที่ 1.8 เมตรเท่านั้น ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong5.jpg

ตอม่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โผล่พ้นน้ำทั้งแท่ง หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลงมาก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong6.jpg

นายสัมฤทธิ์ จากมา คนขับเรือจ้าง ชาวหนองคาย กล่าวว่า สำหรับคนขับเรือ เมื่อแม่น้ำโขงแห้ง สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การแล่นเรือไม่ให้ไปชนกับดอนหรือแก่งที่ผุดขึ้นมาจากน้ำ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong7.jpg

นายชาย (สงวนนามสกุล) ชาวประมงในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กำลังสาวแหอันว่างเปล่าขึ้นจากน้ำ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong8.jpg

นายแดน (สงวนนามสกุล) คนขับรถรับจ้างในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ออกมาหาปลาและไก (สาหร่าย) เพื่อไปเป็นอาหารเย็น แต่พบว่าไกและปลาหายากขึ้นกว่าในอดีต วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong9.jpg

หญิงสาวชาวประมงในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กำลังแกะปลาออกจากแห เธอระบุว่า 3-4 ปีมานี้ ปลาขนาดใหญ่หายากขึ้นกว่าในอดีต วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong10.jpg

นายสมบูน วิไลจิต ชาวลาว ซึ่งหาไก (สาหร่าย) ในแม่น้ำโขง บริเวณอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ไกที่เก็บได้ในช่วงปีนี้มีขนาดสั้นลง ทำให้ต้องใช้เวลาในการเก็บแต่ละครั้งนานขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณที่เพียงพอต่อการกินและขาย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong11.jpg

วัยรุ่นชาวลาวในแขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย ใช้ดอนในแม่น้ำโขงเป็นสถานที่พักผ่อนในช่วงเย็น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong12.jpg

ชาวบ้านขณะกำลังร่อนทองบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อาชีพร่อนทองถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งของคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong14.jpg

น้ำในแม่น้ำโขงบริเวณใกล้สามเหลี่ยมทองคำ ชายแดนไทย-ลาว-เมียนมา กลายเป็นสีน้ำเงิน-เขียวคล้ายน้ำทะเล นักสิ่งแวดล้อมเรียกปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า แม่น้ำไร้ตะกอน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

Mekong16.JPG

ชาวบ้านในอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย วางเครื่องสูบน้ำใกล้กับแม่น้ำโขงเพื่อนำน้ำไปใช้ในครัวเรือน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

การก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำกว่า 60 ล้านคน ที่ต้องพึ่งพาสายน้ำแห่งนี้ในการหาปลาและทำเกษตรกรรม

พระอภิชาติ รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ผู้ซึ่งสังเกตเหตุความผิดปกติของระดับน้ำในแม่น้ำโขงมาตลอดหลายสิบปี เชื่อว่าความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากเขื่อนที่สร้างอยู่ตอนบนของแม่น้ำโขง

“ตั้งแต่ปี 48 สมัยก่อนนี้ ระดับน้ำ ถ้าหน้าแล้งก็คือค่อย ๆ ลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดจุดนึง ระยะนึงมันจะค่อย ๆ ขึ้น แต่ระยะเวลา 4-5 ปีมานี้ ถ้าจะขึ้นก็ขึ้นรวดเร็ว 3 วันก็ขึ้น 3 วันก็ลง คือ ลักษณะเหมือนการเปิดแล้วก็ปิดน้ำ ...ปี 51 น้ำท่วมหมู่บ้าน อพยพทั้งหมู่บ้าน ปีนั้นไม่มีการแจ้งเตือน ไม่รู้ด้วยว่าน้ำมาจากการระบาย หรือว่าจากพายุ หรือจากอะไร... ตั้งแต่นั้นมาก็เลยสังเกตว่า ขึ้น 3 วัน ลง 3 วัน มันก็เป็นการระบายน้ำมากกว่า” พระอภิชาติระบุ

นายชาย (ขอสงวนนามสกุล) ชาวประมงในบ้านสบกก อำเภอเชียงแสน เชียงราย กล่าวว่า ตนหาปลาหลายวัน แต่แทบจะหาไม่ได้

“เดี๋ยวนี้ รู้สึกว่าน้ำไม่ขึ้น แห้งหนักเนาะ แห้งอย่างกะสงกรานต์... ปลาไม่ใช่มันไม่มีหรอก แต่มันหาไม่ได้ มันก็มีผลกระทบอยู่ ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ถ้ามันมีงานทำ เขาจ้างก็ไปหมดแหละ ไม่มีก็ต้องคอยอยู่นี่แหละ บางทีสี่ห้าวัน อยู่นี่เป็นอาทิตย์แล้ว” นายชาย ระบายความทุกข์ต่อเบนาร์นิวส์

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยควรพยายามที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศจีนและลาว

“สิ่งสำคัญคือยกระดับในการพูดคุย เพื่อมีการจัดการเรื่องของการปล่อยน้ำจากเขื่อน ว่าจะต้องปล่อยอย่างไร ปล่อยปริมาณเท่าไหร่ ให้มันสอดรับกับฤดูกาล ให้ระบบนิเวศน์มันทำงานได้ ให้มันไม่รุนแรงเหมือนปัจจุบันที่กำลังทำอยู่” นายนิวัฒน์กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาที่อยากให้รัฐบาลไทยดำเนินการ

ทั้งนี้ แม่น้ำโขงมีความยาว 4,350 กิโลเมตรจากประเทศจีนสู่ประเทศเวียดนาม ถือเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดอันดับ 12 ของโลก ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่ และเป็นที่อาศัยของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ปัจจุบัน มีเขื่อนที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน 10 แห่ง รวมกำลังผลิต 19,990 เมกกะวัตต์ ในลาว 2 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,545 เมกกะวัตต์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง