พระไม่ทิ้งโยม จากผ้าเหลืองสู่ชุดขาว ห้วงวิกฤตโควิด

ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
2021.07.30
กรุงเทพฯ
th-covid-monks1.jpg

พระมหาพร้อมพงษ์ จากวัดสุทธิวราราม (กลาง) ขณะเข้าตรวจเยี่ยมภายในบ้านของผู้ป่วยติดเชื้อ ในกรุงเทพฯ วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-covid-monks2.jpg

ผู้ติดเชื้อที่เพิ่งมาถึงศูนย์พักคอยหลังจากลงทะเบียนเสร็จ ขณะหยิบของใช้ที่จำเป็นสำหรับใช้ในศูนย์พักคอย วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-covid-monks3.jpg

พระมหาพร้อมพงษ์ ขณะตรวจหาเชื้อโควิด-19 (swap test) ภายในบ้านที่มีแต่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่รวมกันเกือบ 10 คน วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-covid-monks4.jpg

พระมหาพร้อมพงษ์ ขณะถอดชุด PPE หลังจากออกตรวจเยี่ยมคนในชุมชนช่วงเย็น วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-covid-monks5.jpg

ทีมงานพระไม่ทิ้งโยม ขณะยกโลงศพของผู้ติดเชื้อขึ้นเมรุ เพื่อทำการฌาปนกิจ วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-covid-monks6.jpg

พระสงฆ์ในชุด PPE ช่วยกันนำโลงศพของผู้ติดเชื้อออกจากบ้าน เพื่อนำไปฌาปนกิจ ที่วัดสุทธิเทพวราราม กรุงเทพฯ วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-covid-monks7.jpg

พระสงฆ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ขณะเข้าศูนย์พักคอยจากช่องทางของผู้ติดเชื้อ วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-covid-monks8.jpg

พระมหาศิริพรรณ วสนฺโต ทำอาหารภายในครัวของวัด เพื่อแจกจ่ายให้กับคนในศูนย์พักคอย และชุมชนโดยรอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-covid-monks9.jpg

พระมหาพร้อมพงษ์ ขณะโทรศัพท์พูดคุยกับผู้ป่วยติดเชื้อที่อยู่ในห้อง โดยมีจีวรที่ถอดออกวางอยู่ข้าง ๆ วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-covid-monks10.jpg

พระสงฆ์ในวัด หลังจากเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสิน ทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ความเป็นความตาย พระภิกษุสงฆ์จำต้องปรับเปลี่ยนกฎทางศาสนาบางประการ เพื่อผันเข้าช่วยเหลือผู้คนในห้วงวิกฤตแพร่ระบาดโควิด-19

หนึ่งในวัด ที่เป็นสถานที่พึ่งและศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน คือ วัดสุทธิวราราม เป็นวัดหนึ่งที่ได้ปรับเปลี่ยนจากสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นศูนย์พักคอยเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 พระสงฆ์ประจำวัดได้ปรับเปลี่ยนหน้าที่จากการปฏิบัติธรรมทางศาสนามาช่วยเหลือญาติโยม แต่ยังคงไม่ละทิ้งหน้าที่ของสงฆ์

แม้การใส่ชุดพร้อมอุปกรณ์ป้องกันตนเอง หรือ Personal Protective Equipment (PPE) เพื่อออกเยี่ยมชาวบ้าน จะไม่ใช่หนึ่งในกิจของสงฆ์มาก่อน แต่พระอาจารย์ยอมผ่อนปรนกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อช่วยเหลือชีวิตคน อย่างไรก็ตาม กฎบางอย่างก็ไม่สามารถผ่อนปรนได้เช่นกัน เช่น พระอาจารย์เองก็ยังคงฉันวันละ 2 มื้อตามปกติ โดยเฉพาะช่วงเย็นหลังจากออกไปตรวจเยี่ยม ช่วยเหลือชาวบ้าน ร่างกายจะเหนื่อยล้ามาก พระอาจารย์ทำได้เพียงพยายามดื่มนมมาก ๆ เพื่อบรรเทาอาการล้าและหิว

ถ้าโดยตรงแล้วอาจจะไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่ถ้าเรามองในเรื่องของมนุษยธรรม พระได้เห็นความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของสังคม ด้วยฐานะที่พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นผู้ที่เยียวยาความทุกข์ร้อน เพราะฉะนั้นหลวงพี่เชื่อว่าการลงไปพูดคุย ไปเยียวยา แบบนี้เรียกว่า ธรรมะโอสถ ทำให้ชุมชนมีกำลังใจ สามารถผ่านปัญหานี้ไปได้” พระมหาพร้อมพงษ์ ปภสฺสรจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสกล่าวกับเบนาร์นิวส์

วัดสุทธิวราราม นำโดย พระสุธีรัตนบัณฑิต รศ.ดร. เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม พร้อมด้วย พระมหาพร้อมพงษ์ ปภสฺสรจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และคณะสงฆ์ ร่วมกันผันวัดให้เป็นพื้นที่ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบครบวงจร ซึ่งเริ่มจากการแยกกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน (community isolation) โดยปรับเปลี่ยนวัดให้เป็นศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วยเคสสีเขียว ทั้งฆราวาสและพระสงฆ์, มีการลงพื้นที่ชุมชนตรวจหาเชื้อเชิงรุกสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง นำชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วนมาใช้ สำหรับตรวจหาโปรตีนหรือแอนติเจนของเชื้อก่อไวรัสโควิด-19 (antigen test kit), ออกตรวจเยี่ยมตามบ้านผู้ป่วยที่เข้าโครงการแยกกักตัวในบ้าน (home isolation)

รวมทั้งมอบยา อาหาร และถุงยังชีพ, ทำอาหารสำหรับศูนย์พักคอยและแจกคนในชุมชน, มีบริการรับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อ, และรับศพผู้ติดเชื้อมาดำเนินการฌาปนกิจที่วัด 

ในช่วงแรกที่วัดทำเป็นศูนย์พักคอย ได้ติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบของทางเขตสาทร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ใบผลตรวจแบบจากโรงพยาบาล เรื่องการต้องทำเรื่องติดต่อผ่านเขตสาทร หรือเรื่องที่ต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตสาทรเท่านั้น ถึงจะสามารถเข้าศูนย์พักคอยได้

ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบพวกนี้ได้มีเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ศูนย์พักคอยได้ จึงเกิดเป็นไอเดีย “พระไม่ทิ้งโยมขึ้นมา เกิดจากกลุ่มของพระและจิตอาสา โดยจะเป็นการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และตรวจเยี่ยมผู้ป่วยติดเชื้อตามบ้าน มีการให้ยาบรรเทาและตามดูอาการ ภายหลังจากการดำเนินการพูดคุยและกดดันจากเจ้าอาวาส ทางเขตจึงยอมปลดล็อกกฎระเบียบ ทำให้สามารถรับผู้ป่วยติดเชื้อเข้าศูนย์พักคอยได้มากขึ้น

ในการตรวจเยี่ยมหลายครั้ง มักหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตัวสีกา ทำให้เกิดความสงสัยว่าไม่อาบัติเหรอ ซึ่งพระมหาพร้อมพงษ์ให้เหตุผลว่า “มันแล้วแต่เจตนานะโยม”

ทั้งนี้ในวัดยังมีโรงครัวที่ทำอาหาร สำหรับแจกผู้ป่วยในศูนย์พักคอยที่วัด และแจกคนในชุมชนโดยรอบวัดอีกด้วย แรงงานก็คือ พระสงฆ์ และครู จากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม มีการทำอาหารแยกสำหรับฆราวาส และพระสงฆ์ รวมทั้งอาหารอิสลามด้วย

ซึ่งการทำอาหารในแต่ละวัน จะมีพระมหาศิริพรรณ เป็นผู้รับผิดชอบในการทำอาหาร หลวงพี่จะพยายามทำอาหารที่ไม่ซ้ำซากและจำเจ รวมทั้งยังมีการตกแต่งหน้าตาของอาหารให้น่ารับประทาน 

หลวงพี่เชื่อว่า อาหารที่รสชาติอร่อยและดูน่ากิน จะทำให้คนที่รับประทานมีความสุข” พระมหาศิริพรรณ​ วสนฺโต กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง