ตึกอายุร้อยปีย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ ยังยืนหยัดอีกนานเพียงใด

ท่ามกลางการพัฒนายุคใหม่ เจ้าของที่ดินมักต้องการพัฒนาพื้นที่เป็นตึกสูง
ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
2021.06.17
กรุงเทพฯ
oldbuilding1.JPG

หัวลำโพง หรือสถานีกรุงเทพ เป็นสถานีรถไฟแห่งแรกในประเทศไทย ที่จะมีอายุครบ 105 ปีในปีนี้ และในอีกไม่กี่เดือนนี้ หัวลำโพงจะถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยและศูนย์การเรียนรู้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding2.JPG

ผู้โดยสารเดินออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งก่อสร้างเป็นรูปโดม สไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซอง มีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงค์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี วันที่ 7 มิถุนายน 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding3.jpg

แฟนภาพยนตร์ หรือคอหนัง รวมตัวกันที่โรงภาพยนตร์สกาลา เพื่อร่วมงานอำลาโรงภาพยนตร์แสตนด์อโลน ที่ได้ปิดตัวไป หลังจากรองรับนักดูหนังมาเป็นเวลา 51 ปี วันที่ 4 กรกฎาคม 2563 (รอยเตอร์)

oldbuilding4.JPG

คนงานปิดประตูบานเฟี้ยมของตึกแถวบริษัท น่ำเฮงอ๊อกซิเย่น ย่านตลาดน้อย วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding5.JPG

โรงรับจํานําง่วนฮะเชียง แยกบางรัก มีหลักฐานภาพถ่ายว่า อยู่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นสีชานมเข้ม ก่อนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนในปัจจุบัน วันที่ 7 มิถุนายน 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding6.JPG

เด็ก ๆ ขี่จักรยานผ่านหน้าโรงภาพยนต์เก่า BMC ดาวคะนอง ที่สมัยก่อนเคยเป็นศูนย์รวมของผู้คนย่านฝั่งธนบุรี ในช่วงปี 2517-2554 วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding7.JPG

ตึกแถวรอบหัวลำโพงที่เคยเป็นร้านค้า ยังคงอนุรักษ์รูปแบบตัวตึกไว้อย่างดี แต่หลังจากสถานีรถไฟปิดให้บริการ อาจจะถูกปรับเปลี่ยนในอนาคต วันที่ 7 มิถุนายน 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding8.JPG

ตึกบริษัทฟ้ารุ่งเรือง สะพานพิทยเสถียร ตลาดน้อย เป็นอาคารพาณิชย์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน เคยแบ่งพื้นที่เป็นร้านขายรองเท้า แต่ก่อนตัวตึกเป็นสีครีมขาว ก่อนถูกปรับปรุงเป็นสีแสดในปัจจุบัน วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding9

คนงานเข็นรถเข็นผ่านตึกแถวร้านขายดอกไม้ส่ง ที่ปากคลองตลาด ซึ่งอดีตเป็นอาคารที่ทำการของ “บุคคลัภย์” ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น แบ๊งค์สยามกัมมาจล และเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน วันที่ 7 มิถุนายน 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding10.JPG

บ้านไมตรีจิตต์ ถนนไมตรีจิตต์ เป็นอาคารยุคแรก ๆ ของกรุงเทพฯ สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 แต่เดิมคือ “โรงพักสามแยก” สถานีตำรวจแห่งแรกของประเทศไทย วันที่ 7 มิถุนายน 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding11.JPG

ตึกแถวชุมชนแพร่งภูธร ศาลเจ้าพ่อเสือ แต่เดิมเคยเป็นวังเก่า ก่อนจะถูกรื้อทิ้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเหลือเพียงโรงเรียนตะละภัฏศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของวังเดิม ภายในชุมชนยังมี “สุขุมาลอนามัย” สถานีอนามัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

oldbuilding12.JPG

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ที่มีอายุกว่าร้อยปี เป็นย่านอาศัยของชาวจีนแคะในเยาวราช รู้จักกันในชื่อว่า “เซี่ยงฮู้ตู้” ถูกยกเลิกสัญญาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อปี พ.ศ. 2544 ก่อนที่ชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดตั้งเป็นบริษัท เข้าทำการบูรณะปรับปรุงและเช่าพื้นที่คืน วันที่ 7 มิถุนายน 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

ตึกและอาคารเก่าอายุร่วมร้อยปีในพื้นที่เมืองเก่าที่เรียงรายไปตามย่านต่าง ๆ บนถนนเจริญกรุง เยาวราช หัวลำโพง จนถึงย่านปทุมวัน เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีเสน่ห์ให้คนยุคปัจจุบันได้ชื่นชมถึงสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตการค้าขายเดิม ๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่สืบทอดกันมา ตั้งแต่ยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ลมหายใจของวิถีชีวิตชาวบ้านที่สืบทอดกันมานานนี้ กำลังอ่อนแรงลงด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจตามโลกยุคใหม่

ด้วยความต้องการพัฒนาคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และระบบรถไฟฟ้าของภาครัฐ พื้นที่ในย่านเหล่านี้จึงมีการซื้อขายกันในราคาสูง จนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินยอมรับตามข้อเสนอ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสถานที่หรืออาคารเก่าของเอกชน และไม่มีการกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อให้เจ้าของอาคารช่วยอนุรักษ์อาคารไว้ อาคารเก่าในกรุงเทพฯ จึงมีการเปลี่ยนมือและถูกรื้อทำลายไปแล้วจำนวนหนึ่ง

โรงภาพยนต์สกาลา เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลง หลังจากหมดสัญญาเช่าที่ดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลง สกาลาได้เปิดฉายรอบอำลาไปเมื่อกลางปี 2563 ณ ปัจจุบัน โรงภาพยนต์แห่งนี้ยังไม่ได้มีการทุบทิ้ง

“สกาลา คือราชาโรงหนังแห่งสยาม เพราะมีที่นั่งขนาด 900 ที่ ตกแต่งหรูหราด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่โรงหนังแสตนอโลนสุดท้ายของกรุงเทพฯ แห่งนี้ต้องปิดตัวลง ประวัติศาสตร์ความทรงจำของคนไทยมีความผูกพันธ์กับโรงหนังแห่งนี้เยอะ” พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู นักวิชาการภาพยนตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

อาคารเก่าเหล่านี้ เป็นเสมือนเสียงบอกกล่าวให้เราได้รับรู้ว่า มีสิ่งใดเกิดขึ้นกับยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านบ้าง แต่ถ้าหากมันไม่สามารถต้านทานอำนาจของเม็ดเงินได้ ในไม่ช้าก็เร็ว มันก็ต้องถูกทดแทนที่ด้วยสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ทำรายได้ให้กับทั้งเจ้าของที่ดินและนายทุนได้มากกว่า

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง