ลมหายใจแผ่วของคณะงิ้ว ในสถานการณ์โควิด-19

งิ้วเป็นวิถีชีวิตของนักแสดง แม้จะลำบากขึ้น ก็ไม่สามารถละทิ้งมันไปได้
ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
2021.04.27
กรุงเทพฯ
th-chinese-opera-1

คณะงิ้วอยู่รวมกันเป็นครอบครัว พ่อแม่ที่เป็นนักแสดงจะพยายามถ่ายทอดวิชาการแสดงให้แก่ลูกโดยให้ร่วมแสดงด้วย ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-chinese-opera-2

พ่อแม่นักแสดงที่มีลูกเล็กต้องผลัดกันดูแล เพื่อไปแต่งหน้า ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-chinese-opera-3

แม่นักแสดงเตรียมนม สำหรับลูกระหว่างรอขึ้นแสดง ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-chinese-opera-4

เด็กชายฝึกการแต่งหน้า ก่อนจะขึ้นแสดง เด็กที่อยู่ในคณะงิ้วเริ่มเรียนรู้การแสดงงิ้วตั้งแต่วัยเยาว์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-chinese-opera-5

นักแสดงงิ้วมีเวลาเปลี่ยนชุดระหว่างการแสดงเพียงสั้น ๆ ท่ามกลางกองเสื้อผ้าจำนวนมากหลังเวที ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-chinese-opera-6

นักแสดงผลัดกันดูแลความเรียบร้อยให้แก่กัน ก่อนจะเริ่มขึ้นแสดงภายใต้เฟซชิลด์อุปกรณ์สำคัญในช่วงโควิด-19 ระบาด ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-chinese-opera-7

หลายครั้งที่คณะงิ้วต้องเดินทางไปแสดงในพื้นที่ที่มีความแออัดและคับแคบ หลังเวทีจึงมีความเบียดเสียดวุ่นวาย ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-chinese-opera-8

นักแสดงซ้อมระบำหน้ากากเปลี่ยนหน้าครั้งสุดท้าย ก่อนจะขึ้นแสดง ระบำหน้ากากเป็นการแสดงประยุกต์ เพื่อดึงดูดคนดู ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-chinese-opera-9

เฟซชิลด์กลายเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของเครื่องแบบงิ้ว ในห้วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

th-chinese-opera-10

การแสดงหน้ากากพ่นไฟ เป็นการแสดงที่เร้าใจ และดึงดูดผู้ชมได้มาก ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

งิ้ว หรือ อุปรากรจีน เป็นการแสดงที่ผสมผสานการขับร้อง ฟ้อนรำ แสดง ดนตรี และกายกรรม ประกอบเป็นเรื่องราว โดยนำเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์จีนมาดัดแปลง ประกอบเข้ากับประเพณีและความเชื่อทางศาสนา ต่อมาหลังจากมองโกลเข้ายึดครองจีน งิ้วจีนกลายเป็นการแสดงออกของการต่อสู้กับอำนาจที่รุกราน และการเชิดชูวีรบุรุษจีน

งิ้ว เข้าสู่ประเทศไทยพร้อมกับชาวจีนที่อพยพมายังดินแดนแห่งนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสมัยต้นรัตนโกสินธ์ งิ้วได้รับความนิยมทั้งจากชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และชนชั้นสูงชาวไทย จนถึงขั้นมีการแสดงให้แก่พระมหากษัตริย์ เจ้านาย และข้าราชการชม ต่อมางานแสดงงิ้วถูกจัดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองในวันสำคัญ เช่น วันเกิดเทพเจ้า วันตอบแทนบุญคุณเทพเจ้า วันตายของเทพเจ้า วันไหว้พระจันทร์ เทศกาลกินเจ โดยมักถูกจัดแสดงใกล้กับศาลเจ้าจีน หรือชุมชนชาวจีน ก่อนการมาถึงของโรงภาพยนตร์และโทรทัศน์ คณะงิ้วในประเทศไทยมีเกือบ 100 คณะ แต่ปัจจุบัน ความนิยมของงิ้วลดลง จนเหลือคณะงิ้วเพียงไม่กี่สิบคณะเท่านั้น

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563-2564 งิ้วเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะคณะงิ้วมักถูกว่าจ้างไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งบางสถานที่มีความแออัดคับแคบ และต้องทำการแสดงต่อหน้าผู้ชมจำนวนมาก เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการป้องกันโควิด-19 ห้ามกิจกรรมในที่ปิด และห้ามการรวมคนจำนวนมาก

จากมาตรการเข้มข้นในปี 2563 ทำให้ช่วง 5 เดือนแรกหลังจากนั้น ของคณะงิ้ว “แชลั่งเง็กเล่าชุน” ซึ่งโดยปกติรับจ้างแสดงในสถานต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และภาคกลางต้องขาดรายได้ที่จะมาเลี้ยงปากท้องสมาชิกของคณะหลายสิบชีวิต

เมื่อรัฐบาลคล้ายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ในกลางปี 2563 งิ้วสามารถกลับมาแสดงได้อีกครั้ง แต่ต้องปรับตัวตามมาตราการควบคุมโรคที่รัฐกำหนด ซึ่งแม้บางมาตราการไม่เอื้อต่อการแสดงมากนัก แต่คณะงิ้วแชลั่งเง็กเล่าชุน ต้องยอมปฏิบัติตามเพื่อให้สามารถทำการแสดงได้ และมีรายได้เข้ามาจุนเจือคณะที่ประกอบด้วยหลายครอบครัว  

“ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด ดัดแปลงเอาเฟซชิลด์มาใส่ตลอดการแสดง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แต่การใส่เฟสชิลด์เป็นปัญหาในการแสดงมาก เพราะใส่แล้วจะร้อนมาก เหงื่อออกตลอดเวลา จนบางครั้งสีที่ทาหน้าไว้หลุดลอกออก หรือเหงื่อไหลเข้าตา สร้างความลำบากระหว่างการแสดง แต่ทำยังไงได้ล่ะ ถ้าไม่ทำเขาก็ไม่ให้แสดง เจ้าหน้าที่ก็มาตรวจบ่อย ๆ” นักแสดงรายหนึ่ง กล่าว

“ปกติ แฟนคลับรุ่นเดอะจะคอยมาให้กำลังใจนักแสดงหลังเวที แวะเข้ามาพูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ บางคนเอาของมาฝากหรือเอาเงินมาให้ แต่พอกลับมาเปิดทำการแสดงรอบนี้ ต้องห้ามไม่ให้เข้ามา เพราะเสี่ยงติดเชื้อ บางคนไม่เข้าใจ แต่บางครั้งก็ต้องยอม เพราะเป็นแฟนคลับที่ติดตามกันมานาน” นักแสดงของคณะงิ้วแชลั่งเง็กเล่าชุน กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดมากเพียงใด คณะแชลั่งเง็กเล่าชุนก็จำเป็นต้องทำการแสดงต่อไปภายใต้ความยากลำบากนั้น เพื่อหวังจะคงไว้ซึ่งประเพณีเก่าแก่ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ที่อาจจะสูญหายไปจากประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้ แต่ที่สำคัญที่สุด งิ้วเป็นวิถีชีวิตของนักแสดงหลาย ๆ คน พวกเขาจึงละทิ้งมันไปไม่ได้

“ยังไงก็ต้องปรับตัวเพื่อให้การแสดงมันสามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะเป็นอาชีพเดียวที่ผมมี” นักแสดงรายหนึ่ง กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง