ศาลสั่งไต่สวนฝ่าย สตม. เพิ่ม กรณีคำร้องขอปล่อยผู้ต้องกักอุยกูร์ 43 คน
2025.02.18
กรุงเทพฯ

ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งนัดไต่สวนผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) 27 มี.ค. นี้ กรณี ทนายความฝ่ายจำเลย คดีระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ปี 2558 ร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ 43 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวโดย สตม.
“ศาลไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวแล้วเห็นว่า คำร้องผู้ร้องมีมูลจึงมีคำสั่งให้ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้คุมขัง หรือผู้แทนมาศาลในวันที่ 27 มี.ค. 2568” คำสั่งศาล ระบุ
หลังฟังคำสั่ง นายชูชาติ กันภัย ทนายความฝ่ายจำเลยของคดีระเบิดราชประสงค์ ในฐานะผู้ร้องเปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน จะทราบผลการพิจารณาคำร้องนี้ของศาล
“ศาลเห็นว่าในการไต่สวนเห็นว่ามีมูลว่าการกักขังอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงจะไต่สวนอีกฝ่ายหนึ่งให้ทราบว่า การกักขังคนอุยกูร์ทั้ง 43 ราย มีเหตุผลอะไรถึงไม่ปล่อยเขา ทั้งที่เขาได้รับโทษไปหมดแล้ว ในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ถ้าศาลมีความเห็นว่ากักขังโดยไม่ชอบ ก็จะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องกักทั้งหมด หรือให้หน่วยงานอื่นมาดูแลประกันตัวพวกเขาอยู่ภายนอกก่อนจะถูกส่งไปยังประเทศที่สาม” นายชูชาติ กล่าว
นายชูชาติ ชี้ว่า ในอนาคตหากเกิดการส่งไปประเทศที่สามจริง รัฐบาลไทยจะเป็นผู้พิจารณาว่า ประเทศใดเหมาะสมที่จะส่งคนอุยกูร์ทั้งหมดไป โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และไม่ก่อให้เกิดความอ่อนไหวเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน
ศาลมีคำสั่งในวันอังคารนี้ หลังจากที่เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ได้ไต่สวนคำร้องหมายเลข คข/2568 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูต, สหประชาชาติ และสื่อมวลชนกว่า 20 คน ร่วมสังเกตการณ์ ทั้งยังมี เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สตม. มาร่วมฟังการไต่สวนด้วย
คำร้องของทนายความครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2568 Justice For All องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ได้รณรงค์โครงการ #SaveUyghur เรียกร้องให้ รัฐบาลไทยยุติความพยายามที่จะส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์ 48 คน กลับไปยังประเทศจีน
Justice For All ระบุว่า คนอุยกูร์ซึ่งถูกกักขังให้ข้อมูลว่า ต้นเดือน ม.ค. 2568 เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูป และนำเอกสารเกี่ยวกับการสมัครใจกลับจีนมาให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กรอก รวมถึงกดดันด้วยวาจาว่า จะเนรเทศพวกเขาไปจีน ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์จึงประท้วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการอดอาหาร กระทั่งทนายความได้ยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณา
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นี้ ศาลได้ไต่สวนพยาน 3 ปาก ซึ่งประกอบด้วย นายชูชาติ ในฐานะทนายความที่เคยทำงานใกล้ชิดกับคนอุยกูร์, นายบาธิยา โบรา ซึ่งเป็นคนอุยกูร์ และเคยทำหน้าที่ล่ามภาษาอุยกูร์ในคดีระเบิดราชประสงค์ รวมถึง น.ส. ไนโรลา อิลิมา นักวิจัยอิสระซึ่งศึกษาเรื่องการถูกกดขี่ และการอพยพของคนอุยกูร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลไต่สวนคำร้องทนายคดีระเบิดราชประสงค์ ขอปล่อยผู้ต้องกักอุยกูร์ 43 คน
นายกฯ เยือนจีน นักสิทธิหวั่นคุยประเด็นส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศ
รมว. ตปท. สหรัฐฯ คนใหม่ หวังประสานไทย-พันธมิตรสหรัฐฯ ไม่ให้ส่งชาวอุยกูร์กลับจีน
“ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์หลายคนมีปัญหาสุขภาพ ป่วย แต่กลับเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างจำกัด จำนวนหนึ่งเป็นโรคมะเร็ง หัวใจ ปอดอักเสบ วัณโรค รวมถึงโรคผิวหนัง” น.ส. อิลิมา กล่าวต่อศาลในการไต่สวน
ในคำร้องของทนายความระบุว่า ปัจจุบัน มีคนอุยกูร์เหลือในห้องกัก 48 คน แบ่งเป็นผู้ต้องกัก 43 คน และ 5 คน เป็นผู้ที่กำลังรับโทษจากการพยายามหลบหนีออกจากห้องกัก โดยระหว่างปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีคนอุยกูร์อย่างน้อย 5 คน ที่เสียชีวิตระหว่างถูกกักตัว และ 2 จาก 5 ผู้เสียชีวิต ยังเป็นเด็ก
“ผมเกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซินเจียง ตั้งแต่ปี 1948 พอจีนปฏิวัติวัฒนธรรม พ่อของผมถูกจับ แม่ของผมถูกสังหารโดย Red Guard (ยุวชนแดง) สภาพความเป็นอยู่แบบนั้น ทำให้ผมต้องหลบหนี และผมได้หนีไปมีชีวิตใหม่ที่ออสเตรเลีย ผมเคยมาเยี่ยมคนอุยกูร์ในห้องกักที่ไทย ผมเห็นสภาพเขาแล้วนึกถึงตัวเองตอนเด็ก ผมอยากขอร้องให้ปล่อยคนอุยกูร์เหล่านี้เป็นอิสระ เขาจะได้มีชีวิตที่สงบสุขแบบคุณและผม” นายบาธิยา โบรา (Bahtiyar Bora) พยานในการไต่สวน กล่าวต่อศาลเมื่อ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา
ยังไม่พิจารณาส่งตัวกลับจีน
ในเดือน ม.ค. 2568 สำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้หารือกับจุฬาราชมนตรี และเสนอให้รัฐบาลไทยไม่ส่งตัวคนอุยกูร์ไปยังจีน เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อทั้งตัวคนอุยกูร์ และประเทศไทยเอง
“ท่านจุฬาราชมนตรี เห็นสอดคล้องกับทาง กสม. และรับที่จะสื่อสารกับทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง การส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กลับจีน อาจทำให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ได้รับอันตรายถึงชีวิต ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ห้ามผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตราย ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนานาชาติ ตลอดจนความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศมุสลิม” ผศ. สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
หลังจากมีข่าวว่าไทยอาจส่งผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ไปยังจีน เบนาร์นิวส์ได้สอบถามไปยัง พ.ต.อ. คธาธร คำเที่ยง โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รับคำตอบว่า “(การส่งตัวหรือไม่) ยังอยู่ในระหว่างการประชุมอยู่ ระหว่างการพิจารณาอยู่ครับ ถ้าได้ข้อสรุปยังไงแล้วเราจะมีการแถลงข่าว”
ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ระบุว่า ในปี 2557 ไทยเคยผลักดันคนอุยกูร์เพศชาย 109 คน กลับไปยังจีน ขณะที่ส่งคนอุยกูร์เพศหญิง และเด็กไปยังตุรกี 173 คน หลังจากนั้นได้เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ในเดือน ส.ค. 2558 ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นการตอบโต้การส่งคนอุยกูร์กลับจีน เพราะศาลพระพรหมฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมจากคนจีน
ปลายเดือน ส.ค. 2558 ตำรวจได้จับกุมตัวนายอาเด็ม คาราดัก หรือบิลาล โมฮัมเหม็ด ที่พูนอนันต์อพาร์ทเม้นต์ ย่านหนองจอก ต่อมา นายไมไรลี ยูซูฟู ถูกจับกุมที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนื่องจากต้องสงสัยว่า ทั้งคู่เป็นผู้ร่วมกันวางระเบิด ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นชาวอุยกูร์ มีภูมิลำเนาอยู่เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน
ปัจจุบัน คดีระเบิดราชประสงค์ยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้ นายคาราดัก และยูซูฟู ถูกควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ตลอดมาร่วม 10 ปี โดยมีสุขภาพที่ย่ำแย่
ชาวอุยกูร์ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uyghur Autonomous Region - XUAR) โดยสหประชาชาติ (UN) เคยรายงานว่า จีนกักขังชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ จำนวน 1.8 ล้านคน ในค่ายกักกันมีการทรมาน บังคับทำหมัน บังคับใช้แรงงาน รวมถึงห้ามให้ปฏิบัติตามประเพณี ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา
“การที่ศาลเห็นว่า คำร้องมีมูล และจะไต่สวนต่อ ก็เป็นความเมตตาของศาล การที่จะให้ สตม. มาชี้แจงก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในฐานะภาคประชาสังคมก็อยากให้ศาลเชิญผู้ต้องกักคนอุยกูร์มาด้วย เพื่อจะได้รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน อย่างเดียวที่กังวลคือ กลัวการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงคดีนี้ กลัวว่าจีนจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือการพิจารณาคดี เพราะถ้าเขาได้ไปตั้งรกรากในประเทศที่สามทุกอย่างก็จะจบอย่างงดงาม” นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์