ศาลไต่สวนคำร้องทนายคดีระเบิดราชประสงค์ ขอปล่อยผู้ต้องกักอุยกูร์ 43 คน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2025.02.14
กรุงเทพฯ
ศาลไต่สวนคำร้องทนายคดีระเบิดราชประสงค์ ขอปล่อยผู้ต้องกักอุยกูร์ 43 คน ศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 วันนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชาวอุยกูร์ 43 คน เป็นครั้งแรก โดยไม่มีผู้ต้องกักชาวอุยกูร์รายใดปรากฏตัวที่ศาล
ลูกอิฐ กุสุมาลย์/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญากรุงเทพใต้ เริ่มไต่สวนคำร้องของทนายความฝ่ายจำเลย ผู้ทำคดีระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ปี 2558 และร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ 43 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) โดยศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องหรือไต่สวนฝ่าย สตม. เพิ่มในวันที่ 18 ก.พ. นี้

“ผมเกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซินเจียง ตั้งแต่ปี 1948 (พ.ศ. 2491) พอจีนปฏิวัติวัฒนธรรม พ่อของผมถูกจับ แม่ของผมถูกสังหารโดย Red Guard (ยุวชนแดง) สภาพความเป็นอยู่แบบนั้น ทำให้ผมต้องหลบหนี และผมได้หนีไปมีชีวิตใหม่ที่ออสเตรเลีย ผมเคยมาเยี่ยมคนอุยกูร์ในห้องกักที่ไทย ผมเห็นสภาพเขาแล้วนึกถึงตัวเองตอนเด็ก ผมอยากขอร้องให้ปล่อยคนอุยกูร์เหล่านี้เป็นอิสระ เขาจะได้มีชีวิตที่สงบสุขแบบคุณและผม” นายบาธิยา โบรา (Bahtiyar Bora) พยานในการไต่สวน กล่าวต่อศาล

การไต่สวนคำร้องหมายเลข คข/2568 เกิดขึ้นในห้องพิจารณาที่ 505 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูต, สหประชาชาติ และสื่อมวลชนกว่า 20 คน ร่วมสังเกตการณ์ ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สตม. มาร่วมฟังการไต่สวนด้วย

นายชูชาติ กันภัย ทนายความฝ่ายจำเลยของคดีระเบิดราชประสงค์ ในฐานะผู้ร้องขึ้นเป็นพยานปากแรกในการไต่สวนคำร้อง โดยมี นายจำเริญ พนมภคากร ทำหน้าที่ทนายความซักถาม กรณีคำร้องที่ขอให้ศาลพิจารณาตาม ป.วิ อาญา มาตรา 90 ไต่สวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปล่อยตัวชาวอุยกูร์ 43 ราย ซึ่งถูกกักในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู (Immigration Detaintion Center - IDC)

“หลังจากที่จีนเริ่มมีการใช้ความรุนแรงปราบปรามคนอุยกูร์ในปี 2552 คนอุยกูร์ได้หลบหนีออกจากประเทศผ่านทางเวียดนามเข้ามายังไทย เพื่อไปยังประเทศที่สามซึ่งเป็นตุรกี หรือประเทศอื่นในยุโรป คนอุยกูร์ 40 กว่าคน ที่อยู่ในห้องกักไม่มีใครทำผิดกฎหมายในจีนแล้วหนีคดีมา และยังได้รับโทษในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายของไทยครบแล้ว แต่กลับต้องอยู่ในสภาพย่ำแย่ในห้องกักเป็นเวลากว่า 11 ปี” นายชูชาติ กล่าว

การร้องของทนายความครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2568 Justice For All องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ได้รณรงค์โครงการ #SaveUyghur เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติความพยายามที่จะส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์ 48 คน กลับไปยังประเทศจีน

Justice For All ระบุว่า คนอุยกูร์ซึ่งถูกกักขังให้ข้อมูลว่า ต้นเดือน ม.ค. 2568 เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูป และนำเอกสารเกี่ยวกับการสมัครใจกลับจีนมาให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กรอก รวมถึงกดดันด้วยวาจาว่า จะเนรเทศพวกเขาไปจีน ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์จึงประท้วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการอดอาหาร กระทั่งทนายความได้ยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณา

ในวันศุกร์นี้ ศาลได้ไต่สวนพยาน 3 ปาก ซึ่งประกอบด้วยนายชูชาติ ในฐานะทนายความที่เคยทำงานใกล้ชิดกับคนอุยกูร์, นายโบรา ซึ่งเป็นคนอุยกูร์ และเคยทำหน้าที่ล่ามภาษาอุยกูร์ในคดีระเบิดราชประสงค์ รวมถึง น.ส. ไนโรลา อิลิมา (Nyrola Elima) นักวิจัยอิสระ ซึ่งศึกษาเรื่องการถูกกดขี่ และการอพยพของคนอุยกูร์

“ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์หลายคนมีปัญหาสุขภาพ ป่วย แต่กลับเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างจำกัด จำนวนหนึ่งเป็นโรคมะเร็ง หัวใจ ปอดอักเสบ วัณโรค รวมถึงโรคผิวหนัง จากข้อมูลของคณะกรรมการอิสลามที่เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องกักชาวอุยกูร์เดือนละ 1 ครั้ง ทำให้ทราบว่า คนที่อยู่ข้างในมีสภาพย่ำแย่มาก เหมือนพวกเขากำลังรอความตายอย่างช้า ๆ” น.ส. อิลิมา กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ เยือนจีน นักสิทธิหวั่นคุยประเด็นส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศ

ทนายคดีระเบิดราชประสงค์ ร้องศาลอาญาปล่อยตัวผู้ต้องกักอุยกูร์

ไทยยืนยัน ยังไม่มีแผนส่งคนอุยกูร์กลับจีน ท่ามกลางความกังวลขององค์กรสิทธิฯ


หลังการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ยื่นคำร้อง ศาลได้กำหนดอ่านคำสั่งให้วันที่ 18 ก.พ. 2568 ว่าจะมีการไต่สวนฝ่ายเจ้าหน้าที่ สตม. เพิ่มเติม หรือยกคำร้อง 

“ถ้าศาลเห็นว่า คำร้องและการไต่สวนวันนี้มีมูลก็จะมีคำสั่งให้ไต่สวนเพิ่ม โดยเชิญฝ่ายตำรวจมาไต่สวน ซึ่งหากไต่สวนแล้วเห็นว่า มีการกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามคำร้อง ก็จะต้องมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องกักคนอุยกูร์ออกไป” นายจำเริญ ทนายความและผู้ร้องคดี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

สถานะอุยกูร์ในที่คุมขัง

ในคำร้องของทนายความระบุว่า ปัจจุบัน มีคนอุยกูร์เหลือในห้องกัก 48 คน แบ่งเป็นผู้ต้องกัก 43 คน และ 5 คน เป็นผู้ที่กำลังรับโทษจากการพยายามหลบหนีออกจากห้องกัก โดยระหว่างปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีคนอุยกูร์อย่างน้อย 5 คน ที่เสียชีวิตระหว่างถูกกักตัว และ 2 จาก 5 ผู้เสียชีวิต ยังเป็นเด็ก

ในเดือน ม.ค. 2568 สำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้หารือกับจุฬาราชมนตรี และเสนอให้รัฐบาลไทยไม่ส่งตัวคนอุยกูร์ไปยังจีน เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อทั้งตัวคนอุยกูร์ และประเทศไทยเอง

“ท่านจุฬาราชมนตรี เห็นสอดคล้องกับทาง กสม. และรับที่จะสื่อสารกับทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง การส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กลับจีน อาจทำให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ได้รับอันตรายถึงชีวิต ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ห้ามผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตราย ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนานาชาติ ตลอดจนความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศมุสลิม” ผศ. สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

หลังจากมีข่าวว่าไทยอาจส่งผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ไปยังจีน เบนาร์นิวส์ได้สอบถามไปยัง พ.ต.อ. คธาธร คำเที่ยง โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รับคำตอบว่า “(การส่งตัวหรือไม่) ยังอยู่ในระหว่างการประชุมอยู่ ระหว่างการพิจารณาอยู่ครับ ถ้าได้ข้อสรุปยังไงแล้ว เราจะมีการแถลงข่าว” 

ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ระบุว่า ในปี 2557 ไทยเคยผลักดันคนอุยกูร์เพศชาย 109 คน กลับไปยังจีน ขณะที่ส่งคนอุยกูร์เพศหญิง และเด็กไปยังตุรกี 173 คน หลังจากนั้นได้เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ในเดือน ส.ค. 2558 ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นการตอบโต้การส่งคนอุยกูร์กลับจีน เพราะศาลพระพรหมฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมจากคนจีน

ปลายเดือน ส.ค. 2558 ตำรวจได้จับกุมตัวนายอาเด็ม คาราดัก หรือบิลาล โมฮัมเหม็ด ที่พูนอนันต์อพาร์ทเม้นต์ ย่านหนองจอก ต่อมา นายไมไรลี ยูซูฟู ถูกจับกุมที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนื่องจากต้องสงสัยว่า ทั้งคู่เป็นผู้ร่วมกันวางระเบิด ซึ่งทั้ง 2 คน เป็นชาวอุยกูร์ มีภูมิลำเนาอยู่เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน 

ปัจจุบัน คดีระเบิดราชประสงค์ยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้ นายคาราดัก และยูซูฟู ถูกควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ตลอดมาร่วม 10 ปี โดยทั้งคู่มีสุขภาพที่ย่ำแย่

ชาวอุยกูร์ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uyghur Autonomous Region - XUAR) โดยสหประชาชาติ (UN) เคยรายงานว่า จีนกักขังชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ จำนวน 1.8 ล้านคน ในค่ายกักกันมีการทรมาน บังคับทำหมัน บังคับใช้แรงงาน รวมถึงห้ามให้ปฏิบัติตามประเพณี ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง