ความพยายามในการต่อสู้กับหมอกควันพิษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สะดุด หลัง USAID ถูกปิดตัว
2025.02.07
กรุงเทพฯ
โครงการริเริ่มเพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องระงับการดำเนินงานลง หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ออกคำสั่งระงับความช่วยเหลือระหว่างประเทศอย่างกะทันหัน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่หมอกควันพิษอันส่งผลอันตรายต่อสุขภาพกำลังไต่ระดับถึงจุดสูงสุดในภูมิภาคนี้
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center - ADPC) องค์การนาซา และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ที่ถูกปิดตัวลง โดยหน่วยงานเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ รับมือกับภัยคุกคามข้ามพรมแดน เช่น การเผาพื้นที่เกษตรกรรมและไฟป่า รวมถึงเฝ้าติดตามและพยากรณ์มลพิษทางอากาศอีกด้วย
คุณภาพอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แย่ลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนที่แล้ว โดยเมืองต่าง ๆ เช่น กรุงเทพฯ และฮานอย ต่างถูกปกคลุมด้วยมลพิษทางอากาศเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
องค์การยูนิเซฟ ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อเด็กของสหประชาชาติ เผยแพร่ข้อมูลในสัปดาห์นี้ว่า มลพิษทางอากาศยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กในประเทศแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รองจากภาวะทุพโภชนาการ
“การระงับโครงการในช่วงฤดูหมอกควันพิษในภูมิภาค เป็นเรื่องที่น่าเสียดายและก่อให้เกิดปัญหา” เอกพล เอกอัครรุ่งโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศและภูมิสารสนเทศของศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
“ผลกระทบโดยตรงที่ตามมาคือกิจกรรมที่วางแผนไว้แล้วบางส่วน เช่น การบูรณาการข้อมูลและการสร้างศักยภาพให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น ต้องล่าช้าออกไป ซึ่งอาจส่งผลให้การพัฒนาและการเผยแพร่เครื่องมือที่สนับสนุนการตัดสินใจและกลยุทธ์ตอบสนองอย่างทันท่วงทีล่าช้าลง” เขากล่าว
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมาว่า ได้ระงับความช่วยเหลือจากต่างประเทศของสหรัฐฯ ทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงและองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ระหว่างการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่าง ๆ สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์
การตัดสินใจดังกล่าวทำให้โครงการด้านมนุษยธรรมทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง ตั้งแต่การกำจัดกับระเบิดไปจนถึงการป้องกันเอชไอวี ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ พนักงานส่วนใหญ่จากหลายพันคนของ USAID ถูกสั่งให้หยุดงานตั้งแต่วันศุกร์ ตามประกาศที่ขณะนี้เป็นข้อมูลเดียวที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของ USAID
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังประกาศถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และข้อตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยกว่าสององศาเซลเซียส
เอกพล กล่าวว่า ศูนย์เตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติกำลังมองหาทุนจากผู้บริจาคให้ทุนระหว่างประเทศรายอื่น ๆ และหากประสบความสำเร็จ โครงการด้านมลพิษทางอากาศอาจกลับมาดำเนินการได้ภายในไม่กี่เดือน
“ผมมองในแง่ดีว่า ความพยายามของเราในการหาแหล่งทุนทางเลือกและสร้างความร่วมมือจะช่วยให้เรากลับมาเดินหน้าต่อได้ภายในเดือนเมษายน” เขากล่าว
นอกจากนี้ เขายังระบุว่าความร่วมมือกับองค์การนาซาจะยังคงดำเนินต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐไทยทำอะไรบ้างแล้วกับปัญหาหมอกควันพิษ
สายด่วนรายงาน ไม่น่าเพียงพอในการต่อสู้มลพิษลุ่มแม่น้ำโขงช่วงฤดูแล้ง
พบจุดความร้อนเกือบพันจุด ในภาคเหนือทำสถานการณ์ฝุ่นวิกฤต
การเสียชีวิตของเด็ก
คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่เป็นภาระด้านสุขภาพและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยส่งผลกระทบอย่างหนักเป็นพิเศษต่อภูมิภาคที่มีรายได้ต่ำ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในเอเชียจะลดลงอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นและการลดการใช้เชื้อเพลิงภายในอาคาร เช่น ถ่านหินในการหุงต้มและให้ความร้อน แต่ระดับการเสียชีวิตยังคงสูงจนน่าตกใจ เจ้าหน้าที่องค์การยูนิเซฟกล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ เมื่อวันพฤหัสบดี
ยูนิเซฟระบุว่า อากาศที่เป็นพิษเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบ ประมาณ 100 รายต่อวัน ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่รวบรวมโดยสถาบันประเมินตัวชี้วัดด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) การใช้เชื้อเพลิงที่ไม่สะอาดในการหุงต้มและให้ความร้อนในครัวเรือนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่ง
ฝุ่นละอองขนาดเล็กในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นต้นเหตุของหมอกควันพิษประจำปีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ การสะสมของมลพิษเหล่านี้ในเขตเมืองหรือชนบทขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
ประมาณสองในสามของเด็กในภูมิภาคนี้อาศัยอยู่ในประเทศที่ระดับฝุ่นละอองในอากาศสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก มากกว่าห้าเท่า
“ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในการลดการเสียชีวิตของเด็กจากมลพิษทางอากาศแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่เราสามารถทำได้ หากเรายังคงเดินหน้าต่อไปในทิศทางนี้” นิโคลัส รีส ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของยูนิเซฟกล่าว
เขากล่าวกับ เรดิโอฟรีเอเชียว่า การรักษาความก้าวหน้านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เจตจำนงทางการเมือง ความเข้มแข็งของความพยายามในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และศักยภาพของระบบสาธารณสุข
“หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ ผมเกรงว่าความก้าวหน้าจะไม่เพียงแค่ชะลอตัวลงในปีต่อ ๆ ไป แต่อาจทำให้เราสูญเสียความก้าวหน้าที่เราได้ทำมาแล้วด้วยซ้ำ” เขากล่าว