ฝ่ายค้านคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ผู้แพ้อาจได้ครองอำนาจ

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อบูซา
2023.05.16
ฝ่ายค้านคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ผู้แพ้อาจได้ครองอำนาจ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวหลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่สำนักงานใหญ่พรรคก้าวไกล กรุงเทพฯ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

เสียงของประชาชนชาวไทยที่ต่อต้านการควบคุมของรัฐบาลทหารเป็นที่ประจักษ์ เมื่อดูจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่งผลให้พรรคก้าวไกลกวาดที่นั่งในรัฐสภาไป 152 ที่นั่ง และพรรคเพื่อไทยสามารถคว้าไปได้ถึง 141 ที่นั่ง 

ชัยชนะของฝ่ายค้านอาจถือได้ว่าเป็นการฉีกหน้าพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ที่เข้ามามีอำนาจเป็นรัฐบาลด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ซึ่งหมายถึงพรรครวมไทยสร้างชาติของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐที่นำโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้ไป 76 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่งในสภาล่าง

เสียงประชาชนส่วนใหญ่ราว 70% กลับเลือกพรรคฝ่ายค้าน และประชาชนเพียง 1% เท่านั้นเลือกพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ 13% เลือกพรรคของ พลเอก ประยุทธ์ นี่เป็นการปฏิเสธบทบาทของทหารที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองอย่างชัดเจน

ด้านพรรคก้าวไกลมีผลงานเกินความคาดหมายที่สุด โดยสามารถดึงคะแนนเสียงจากฐานเดิมของพรรคเพื่อไทยไปได้ และพรรคเพื่อไทยเองก็ได้เสียที่นั่งในฐานเสียงภาคเหนือขิงตน นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังกวาดเก้าอี้ ส.ส. แบ่งแขตในกรุงเทพฯ ไปอย่างราบคาบ โดยคว้าไป 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 33 ที่นั่ง ในปีที่ผู้คนต่อต้านผู้ที่อยู่ในอำนาจและไฝ่หาการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง พรรคเพื่อไทยถูกมองว่ายังยึดติดกับนโยบายเดิม ๆ ด้วยการเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่ก้าวหน้าเพียงพอ

ขณะที่พรรคอื่น ๆ ได้รับชัยชนะในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถกอบกู้ภาพลักษณ์ด้านลบ จากการสนับสนุนรัฐประหารในปี 2549 และความสัมพันธ์ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารตั้งแต่นั้นได้ โดยหลังทราบผลการเลือกตั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของพรรคในศึกเลือกตั้งครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทยยังคงทำได้ดีในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยเฉพาะในฐานที่มั่นของพรรค แต่กลับล้มเหลวในคะแนนจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ นักการเมืองในพื้นที่มีฐานเสียงสนับสนุนของตนเอง และประชาชนเลือกที่ตัวบุคคล แต่การสนับสนุนพรรคและนโยบายของพรรคมีน้อย

อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป

หากประเทศไทยมีระบบรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์แบบปกติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล จะได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลร่วม โดยพิธาให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยและอีกห้าพรรคฝ่ายค้านเดิม ในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมที่ประกอบด้วยหกพรรคการเมือง

แต่ประเทศไทยมีระบบรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ที่ไม่ปกติ ดังเช่นในปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้ง แต่กลับไม่ได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีจำนวน 250 คนที่ถูกแต่งตั้งโดยทหาร สามารถลงคะแนนเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของทหารในการกีดกันฝ่ายตรงข้าม

วุฒิสภาดังกล่าวประกอบด้วย ผู้นำทหารระดับสูงหกคน และวุฒิสมาชิก 1 ใน 3 เป็นข้าราชการทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพ แม้ว่าในหลักการ ส.ว. สามารถลงชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในฐานะบุคคลได้อย่างอิสระ

ขณะที่ ส.ว. อื่น ๆ ได้แก่ ทหารเกษียณ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมรอยัลลิสต์ ซึ่งพวกเขาได้แสดงท่าทีแล้วว่าจะไม่สนับสนุนพิธาและพรรคก้าวไกล ตัวอย่างเช่น ส.ว. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ที่ได้ระบุว่า พิธายังไม่ได้แสดงความภักดีที่เพียงพอต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลของฝ่ายค้าน จึงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรถึง 376 เสียง เพื่อเอาชนะการปฏิเสธของ ส.ว.

ท่ามกลางอุปสรรคครั้งใหญ่นี้ พิธายังยืนยันว่า ส.ว. ต้องสนับสนุนความปรารถนาของประชาชน

นั่นฟังดูไร้เดียงสา เพราะวุฒิสภาถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแต่งตั้งสมาชิกให้มีบทบาทเดียวคือ รักษาอำนาจแบบอนุรักษ์นิยมและสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่มี ส.ว. จำนวนหนึ่งได้แสดงความเห็นว่าจะสนับสนุนพรรคที่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าคงเป็นไปได้ยากที่ ส.ว.ที่เหลือจะคล้อยตาม

230516-th-abuza-election-Prayuth.jpg

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปรบมือให้ผู้สนับสนุนระหว่างการรณรงค์หาเสียงครั้งสุดท้าย ในกรุงเทพฯ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

คำถามคือ เหตุใดที่ชนชั้นนำที่สนับสนุนทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ จะยอมสละบทบาทในการที่สามารถยกมือโหวตรับรองนายกรัฐมนตรีได้ เพราะการทำเช่นนั้นจะเท่ากับการยื่นอำนาจให้กับฝ่ายตรงข้าม ที่สนับสนุนการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

และเหตุใดที่ ส.ว. จะต้องสนับสนุนพรรคที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกจัดทำโดยทหารในปี 2560 ทำไมทหารถึงต้องยอมให้พรรคที่มีแผนที่จะยุติการเกณฑ์ทหารเข้ามาปกครอง

สำหรับชนชั้นนำเหล่านั้น ประชาธิปไตยทำให้อำนาจของพวกเขาสั่นคลอน ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดขึ้นของสาธารณรัฐ เพราะฉะนั้นพวกเขาจะไม่มีทางยอมละวิถีการรวบอำนาจนี้ไป

พิธามีโอกาสถูกตัดสิทธิ์หรือไม่

พิธา และผู้นำคนอื่น ๆ ของพรรคก้าวไกล มีคดีความทางกฎหมายติดตัวอยู่ และเป็นไปได้ว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานอิสระ อาจตัดสิทธิ์คนใดก็ได้ และที่สำคัญคือ อาจมีการสั่งยุบพรรคได้เช่นกัน หลังจากที่ฝ่ายกฏหมายของพรรคพลังประชารัฐได้ขอให้ศาลดำเนินการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ฟ้องใครก็ได้ หากเข้าข่ายละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ในการเลือกตั้งครั้งก่อน ศาลได้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่หลังจากฝ่ายค้านได้ชนะการเลือกตั้งในปี 2562 และตัดสิทธิ์ทางการเมืองนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ก่อนจะตามไล่ล่าเขาด้วยคดีความมากมาย

อย่างไรก็ตาม กกต. มีเวลา 60 วันในการดำเนินการสอบสวนและอาจตัดสิทธิ์การเลือกตั้ง ส.ส.หรือยุบพรรคหากพบปัญหาสำคัญ แต่ที่ผ่านมากกต.และศาลไม่เคยยุบพรรคที่สนับสนุนทหาร แม้จะมีพฤติกรรมผิดปกติและก่ออาชญากรรมก็ตาม

เชื่อว่ากกต. จะไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือไป โดยจะใช้ทุกวิธีการด้วยอำนาจที่มีอยู่ น่าเสียดายที่กกต. ที่ควรได้รับความเคารพในการดำเนินการเลือกตั้ง ก็ยังตกเป็นเครื่องมือที่สามารถทำลายการเลือกตั้งเสียเอง

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ความหวังของรัฐบาลที่นำโดยฝ่ายค้านตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่ากองทัพ สมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะเป็นผู้แสดงเจตนาดีที่จะรับรองพรรคด้วยอำนาจที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชน และไม่ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาเอง

คำถามคือฝ่ายค้านมีช่องทางในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่ซับซ้อน

พิธา ปฏิเสธอย่างแน่วแน่ที่จะไม่จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคใด ๆ ที่เชื่อมโยงกับกองทัพหรือรัฐประหารในปี 2557

250516-th-abuza-election-crowd.jpeg

ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลร่วมแสดงความยินดีในผลการเลือกตั้ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 (จอร์จ ซิลวา/รอยเตอร์)

พรรคร่วมฝ่ายค้านของก้าวไกลอาจลองติดต่อพรรคภูมิใจไทยที่มีถึง 70 ที่นั่ง ได้คะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับ 3 และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคนั้นเคยเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยมาก่อน ก็น่าจะพูดคุยกันได้

แต่อนุทินเองก็อาจปฏิเสธนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล และก็ไม่ชัดเจนว่าพิธาจะประนีประนอมกับประเด็นนี้ในเร็ว ๆ นี้หรือไม่

นอกจากนี้ อนุทินจะต้องถูกชนชั้นนำรอยัลลิสต์กดดัน ไม่ให้รับข้อเสนอนี้และยื่นข้อเสนอให้เขาไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลฝั่งอนุรักษ์นิยม จึงกล่าวได้ว่า พรรคภูมิใจไทยจะมีอำนาจในการชี้ขาดเกมเลือกตั้งครั้งนี้

กล่าวโดยสรุปคือ แม้พรรคฝ่ายค้านเดิมจะมีชัยชนะด้วยเสียงเลือกตั้งที่มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตั้งพรรคร่วมรัฐบาลได้ ฝั่งอนุรักษ์นิยมซึ่งรวมถึงพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนว่าจะมีสิทธิ์ตั้งรัฐบาลได้มากกว่าด้วยการสนับสนุนของส.ว. แต่ก็อาจนำมาซึ่งการประท้วงที่ยิ่งใหญ่บนถนน

แนวร่วมอนุรักษ์นิยมระหว่างภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภาอย่างเต็มที่

จึงอาจกล่าวได้ว่าในขณะที่ฝ่ายค้านได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ แต่การเมืองไทยกลับเป็นฝ่ายแพ้

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง