ประยุทธ์ฐานะนายกฯ 'คืนความสุข’ ให้ชาวไทยจริงไหม คนส่วนใหญ่บอก 'ไม่จริง'

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2023.07.13
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ประยุทธ์ฐานะนายกฯ 'คืนความสุข’ ให้ชาวไทยจริงไหม คนส่วนใหญ่บอก 'ไม่จริง' พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 16 พฤษภาคม 2566
เอเอฟพี

เกือบทศวรรษแล้วที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา งัดเครื่องมือทุกชนิดที่มีออกมาใช้ เพื่อไม่ให้ตัวเองหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั่นรวมไปถึงการเขียนเพลงร่ายความซาบซึ้งทิ้งท้ายว่า จะคืนความสุขให้กับประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม

แต่ทั้งนักสังเกตุการณ์และประชาชนไทยมีความเห็นว่า แม้ว่าเขาจะดำรงตำแหน่งทรงอำนาจในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และผู้นำการรัฐประหารในปี 2557 แต่วาระในการเป็นรัฐมนตรีของประยุทธ์จะถูกจดจำในทางที่ไม่ดีเสียเป็นส่วนมาก ทั้งการทอดทิ้งความเป็นประชาธิปไตยแบบไม่เหลือซาก, ปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่าง หรือการยกระดับการจับกุมผู้เห็นต่างที่ถูกกล่าวหาว่าสร้างความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

เหตุการณ์เหล่านี้กลบทับความนิยมใด ๆ ก็ตามในตัวประยุทธ์ที่อาจจะได้รับในหมู่คนไทย ทั้งอารมณ์ขันแปร่ง ๆ การแต่งเพลง และจังหวะการปล่อยเพลงในช่วงเวลาที่อาจจะไม่ได้จังหวะ เช่น การออกมาร้องเพลงรัก ในช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงปี 2562

ประชาชนชาวไทยแสดงออกถึงความไม่พอใจในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติของประยุทธ์แถลงชะตากรรมของเขาอย่างเศร้าโศกเป็นจริงเป็นจัง ก่อนที่ประยุทธ์จะประกาศวางมือทางการเมืองในวันอังคารถัดมาเสียอีก

เคน เมธิส โลหเตปานนท์ นักวิจัยสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกนให้ความเห็นว่า ปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรงต่อการครองตำแหน่งของประยุทธ์สะท้อนให้เห็นจากการที่พรรคอนาคตใหม่ พรรคคู่แข่ง ชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวนเก้าอี้ที่มากกว่าแบบถล่มทลาย

“[เมื่อถามว่า จดจำอะไรได้บ้างในช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์] กลุ่มผู้ต่อต้านประยุทธ์ จะมองไปที่ความถดถอยของประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออก เศรษฐกิจเป็นพิษ และการเล่นตลกของเขา” เคน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

230712-th-prayuth-legacy-2.jpg

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เดินข้าง ๆ คัตเอาท์รูปตนเองระหว่างเตรียมงานวันเด็กแห่งชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 12 มกราคม 2561 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

9 ปีในตำแหน่งแห่งการเริ่มต้นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของประยุทธ์

ประยุทธ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นสู่ตำแหน่งโดยการแต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย หลังจากที่กองทัพยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่ได้มาจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2557 เขาเคยลั่นไว้ว่าการปฏิวัติมีจุดประสงค์เพื่อยุติการนองเลือดของการประท้วงและควบคุมการคอร์รัปชันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จากนั้น ประยุทธ์ค่อย ๆ ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเพื่อถ่ายเทอำนาจให้กับฝ่ายทหารและตนเองทีละเล็กละน้อย

ในปี 2560 รัฐบาลทหารของประยุทธ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ระบุว่าบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นที่จะต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบที่มากพอจาก สมาชิกวุฒิสภาในรัฐสภา ดังนั้นประยุทธ์จึงรวบรวมเสียงของส.ว. ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนรอยัลลิสต์เหมือนกับตนเอาไว้

หลังจากที่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ในประเทศไทย พล.อ. ประยุทธ์ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัยถึงแม้ว่าจะมีผู้สังเกตการณ์กล่าวหาว่าการเลือกตั้งถูกคดโกงจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อรักษาอำนาจไว้ให้รัฐบาลทหาร ดังนั้นประยุทธ์จึงจัดการผ่านกลวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองยังคงดำรงอยู่ในอำนาจต่อไป เช่น การเอาตัวรอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 4 หรือช่วงที่เขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคของตัวเอง

แม้ว่าปัญหาจะรุมเร้า แต่ประยุทธ์ก็ยังไม่ละทิ้งอารมณ์ขันและความปั่นป่วน ณ ช่วงเวลาที่ยังทำงาน เช่น ครั้งหนึ่งเขาเคยหลบเลี่ยงคำถามจากนักข่าวด้วยการบอกปัดว่าให้ “ไปถามเขาสิ” ระหว่างที่ชี้ไปที่คัตเอาท์ขนาดเท่าตัวจริงของตัวเอง อีกครั้งหนึ่งคือช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีรู้สึกขัดใจกับคำถามของนักข่าว เขาจึงเดินไปพ่นแอลกอฮอลล์ล้างมือใส่กลุ่มผู้สื่อข่าว

ผู้นำที่ล้มเหลว

ช่วงเวลาที่ประยุทธ์ยังอยู่ในอำนาจ เขามองเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของราชวงศ์อย่างเงียบสงบ ย้อนไปในปี 2557 นักวิเคราะห์กล่าวไว้ว่ารัฐบาลที่ทำการรัฐประหารของประยุทธ์ถูกแต่งตั้งขึ้นมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้การขึ้นครองราชย์เป็นไปได้อย่างราบรื่นในช่วงปีที่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรกำลังจะหมดลง

เดือนพฤษภาคม 2562 ประเทศไทยจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในรอบ 70 ปี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติหลังจากช่วงเวลา 2 ปีครึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ก่อนเสด็จสวรรคต

ปี 2560 รัฐบาลทหารออกกฎหมายให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณมีอำนาจในการจัดการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่มีหน้าที่ดูแลที่ดินและสินทรัพย์ที่คาดว่ามีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 1,037,700 ล้านบาท) แต่เพียงผู้เดียว

ความสัมพันธ์ของประยุทธ์กับราชวงศ์ไทยฉายให้เห็นชัดเจน เมื่อเกิดการประท้วงโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่และกลุ่มที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ผู้ประท้วงกว่าพันคนเข้าร่วมการเดินขบวนที่มีจุดยืนของข้อเรียกร้อง 3 ประการ นั่นคือ พล.อ. ประยุทธ์ต้องลาออก ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา ประยุทธ์ออกโรงเตือนกลุ่มผู้ประท้วงว่า “กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด” ซึ่งรวมไปถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียงจะถูกบังคับใช้ และในวันเดือนมีนาคม 2566 ประชาชนอย่างน้อย 238 รายที่รวมไปถึงเยาวชนหญิงอายุ 15 ปีถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว

“การบังคับควบคุมตัวชายผู้หนึ่งให้ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลโรคจิต เพราะสวมเสื้อที่มีข้อความล่อแหลมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เหล่านี้ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของรัฐบาลชุดนี้ที่มีทหารปกครอง”ศาสตรจารย์ซาคารี อาบูซา วิทยาลัยการสงครามแห่งชาติ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์กล่าวในบทวิเคราะห์ของเบนาร์นิวส์ในเดือนกรกฏาคม 2563

230712-th-prayuth-legacy-3.jpg

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเล่นเซปักตะกร้อระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ วันที่ 20 เมษายน 2566 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เดือนกรกฎาคม 2565 ว่า กลุ่มผู้ประท้วงต้องการให้ผู้ที่ขับไล่ประยุทธ์อ้างถึงอำนาจของประชาธิปไตยที่ถูกกดขี่อย่างต่อเนื่อง ความเลวร้ายทางเศรษฐกิจ และการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด เนื่องจากประยุทธ์มีการจัดการกดขี่กลุ่มผู้ประท้วงอย่างเข้มข้น

“การเคลื่อนไหวนั้นถูกทำให้กระจัดกระจายและถูกปราบปรามด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เครื่องมือทางกฎหมาย การข่มขู่และคุกคาม แต่ความไม่พึงพอใจและความคับข้องใจนั้นก็กำลังเดือดพล่านอยู่ภายใต้ฝาครอบของการกดขี่” ฐิตินันท์เขียน ทั้งยังกล่าวว่าระหว่างที่การประท้วงเริ่มซาลงไป ประเทศไทย “ก็ดูเหมือนว่าจะมุ่งหน้าไปสู่การพิพากษาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในเวลาอีกไม่กี่อาทิตย์ที่จะถึงนี้”

พอแล้วรัฐบาลทหาร

เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยูโซฟ อิสฮัค กล่าวว่า การพิพากษานั้นเกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤษภาคม

“ผลการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยไม่เอา พล.อ. ประยุทธ์และคณะทำงานอีกต่อไปแล้ว นั่นคือพวกสาม ป. ที่เราคุ้นเคยกันดี” เติมศักดิ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

230712-th-prayuth-legacy-4.jpg

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถวายความเคารพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ หลังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำรงตำแหน่ง วันที่ 11 มิถุนายน 2562 (สำนักงานโฆษกรัฐบาล/เอพี)

ซึ่ง เติมศักดิ์ หมายถึง ประยุทธ์ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอก อนุพงษ์ (“ป๊อก” เผ่าจินดา) อดีตผู้บังคับบัญชาทหารผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในปี 2557

ผมคงพูดได้ว่าพลเอก ประยุทธ์ คือผู้นำที่ล้มเหลว แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่เขามีอำนาจในการบริหารจัดการเกือบเบ็ดเสร็จในช่วง 4 ปีแรกที่เป็นผู้นำฝ่ายทหาร การทำรัฐประหารของประยุทธ์ที่โค่นล้มรัฐบาลที่มีแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือไม่ก็ไม่จำเป็นเสียด้วยซ้ำที่จะพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น แต่ พลเอก ประยุทธ์ ก็ยังขยี้โอกาสทองที่ได้มาสำหรับการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ เติมศักดิ์กล่าวต่อไป

เขาอ้างถึงการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารปี 2557 และเติมศักดิ์ยังเสริมว่า เรายังได้เห็น “ความรุนแรงและคอร์รัปชันทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะในวงการตำรวจ” ในช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์

นี่จึงเป็นสาเหตุที่รัฐบาลประยุทธ์มีผลงานด้านเศรษฐกิจที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ธนาคารโลกรายงานในปีที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากที่สุดในเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิก

“ความเหลื่อมล้ำของไทยพุ่งสูงขึ้น นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่ของช่วงเวลานี้ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของทหารและผู้รับมอบอำนาจจากทหาร” ซาคารี อาบูซา อาจารย์จากวิทยาลัยการสงครามแห่งชาติกล่าว

ในสถานการณ์นี้ ปัญหาที่สืบเนื่องมาคือ "รัฐบาลประยุทธ์ได้สร้างหนี้สาธารณะมากกว่าทุกรัฐบาลในอดีตรวมกัน ทำให้เป็นรัฐบาลที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากสุด” ธัชชนก สัตยวินิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์เเละนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าว

“เป็นรัฐบาลที่มีการใช้งบทางการทหารมากที่สุด ซื้ออาวุธมากที่สุด ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ” ธัชชนก กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เมื่อพิจารณามรดกทางการเมือง บางคนกล่าวว่าอย่างน้อย พลเอก ประยุทธ์ ก็ควรจะลงจากตำแหน่งเร็วกว่านี้

“ตัดสินใจช้าไปไหม” เกศวริน พฤกษามงคล วัย 24 ปี ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ตอบแกมประชด

ท่าทีแบบนี้มันคือ การอยู่ดูให้แน่ใจว่าจะไม่ได้เป็นนายกฯ แล้วกะว่าเป็นตาอยู่เลย ลุ้นจนหยดสุดท้าย”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง